Brexit คืออะไร ทำไมต้องออก


หลังจากผลการลงประชามติของชาวอังกฤษออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ต้องการให้อังกฤษนั้นออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วยสัดส่วนคะแนนโหวต 52 ต่อ 48 วันนี้เราจึงต้องมาทำความรู้จักคำว่า Brexit ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมชาวอังกฤษถึงโหวตให้ออก แล้วต่อจากนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

สหราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันในนามว่า อังกฤษ นั้น มีชื่อเต็มว่า "สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ" ภาษาอังกฤษเขียนว่า United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland ประกอบด้วยประเทศต่างๆ 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เวลล์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

คำว่า Britain คือคำที่ใช้แทนประเทศในสหราชอาณาจักรและคำว่า Exit ซึ่งแปลว่า ออก ดังนั้น Britain + Exit = Brexit ซึ่งในบริบทนี้แปลว่า การที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปนั่นเอง


สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกจำนวน 28 ประเทศ และมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน ในขณะที่อังกฤษนั้นได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปมาเป็นเวลาทั้งสิ้น 43 ปี และมีการสร้างสัมพันธ์กันในด้านต่างๆ มากมาย แต่เมื่อชาวอังกฤษมีประชามติออกมาว่าต้องการออกจากสหภาพยุโรป จึงมีผลทำให้ความสัมพันธ์และเงื่อนไขสำคัญบางอย่างระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปต้องสิ้นสุดลง

การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษครั้งนี้มีปัจจัยอยู่ 2 ประการ คือ
1. อังกฤษเห็นว่า สหภาพยุโรปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ไม่ได้ผล อังกฤษจึงต้องถอยห่างออกจากสหภาพยุโรปเพื่อไม่ให้ตนเองนั้นต้องแบกรับภาระที่จะตามมาในอนาคต
2. อังกฤษไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับผู้อพยพผู้ลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลางเข้ามาสหภาพยุโรป อังกฤษมองว่าจะเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวทั้งการต้องแบกรับภาระในด้านสวัสดิการ และความมั่นคงในประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนคือ ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่รัฐบาลต่างๆ ต้องวางแผนและเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา อีกทั้งผลกระทบอีกประการหนึ่งก็คือ ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปจะมีพฤติกรรมเลียนแบบอังกฤษ ประชาชนและฝ่ายค้านของแต่ละประเทศจะมีความพยายามยามกดดันรัฐบาลของตนเอง ซึ่งอาจจะออกมาในแนวทางที่จะต้องจัดทำประชามติขอแยกตัวเช่นเดียวกัน หรืออาจไม่ถึงขั้นทำประชามติแยกตัวก็อาจจะต้องมีการกดดันให้รัฐบาลของตนไปเจรจากับธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสหภาพยุโรปขึ้นในเร็วๆนี้