ความห่วยซ้ำซากของ สทศ.


         
เรื่องที่สะเทือนวงการการศึกษาตั้งแต่ปี 2550 เป็นเรื่องระบบแอดมิดชั่น ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2549 พอเริ่มใช้ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมือง เพราะว่ามีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการตรวจข้อสอบรวมถึงความพร้อมในการจัดการกับระบบแอดมิสชั่น เพราะเป็นปีแรกที่เว็บไซต์สำหรับการประกาศผลโอเน็ตและเอเน็ตล่ม พอล่มแล้วทำให้นักเรียนหลายแสนคนทั่วประเทศไม่สามารถเข้าไปตรวจผลสอบได้ หรือบางคนเข้าไปได้แต่ผลคะแนนปรากฏเป็นศูนย์ ปัญหายิ่งบานปลายมากขึ้นเมื่อ สทศ. หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องข้อสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน เลื่อนประกาศผลการสอบใหม่ แต่พอประกาศแล้วผลคะแนนสอบของนักเรียนนับพันคนยังมีปัญหาเช่นเคย บางรายวิชาเพิ่มขึ้น บางรายวิชาดลง ทีนี้เมื่อประกาศคะแนนดิบไปแล้ว บางคนคะแนนลดลงเกือบทุกวิชา แล้วบางคนประกาศผลออกมาว่าขาดสอบ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเด็กที่ไปเข้าสอบเองจะรู้สึกอย่างไร เพราะเดี๋ยวคะแนนเพิ่ม คะแนนลด ขาดสอบ แล้วจะรู้สึกอย่างไรเมื่อไปดูคะแนนครั้งแรกได้ 400 คะแนน  แต่พอไปดูคะแนนสอบอีกครั้งนึ่งกลับลดเหลือ 200 คะแนน และผลคือ สอบไม่ติด !

คุณคือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการวัดผลการสอบมาตรฐานแห่งชาติ เราต่างก็รู้ดีกันว่ามีความสำคัญแค่ไหนกับสังคมไทย เพราะการเข้ามหาวิทยาลัยแทบจะเป็นการตัดสินชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งทั้งชีวิต คุณซึ่งทำงานที่มีผลต่อชีวิตของคนคนหนึ่งไปทั้งชีวิตละเลยที่จะเอาใจใส่ในการทำงานซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่สุด ไม่ต้องไปพูดถึงอะไรที่มันยากไปกว่านั้น เช่น ปรัชญา แนวทางในการณ์วัดผล หรืออุดมการณ์อะไรก็ตามแต่ นี่เป็นปัญหาเทคนิคง่าย ๆ ในการทำงาน แต่คุณไม่สามารถที่จัะจัดการให้มันเรียบร้อย ให้เนี้ยบ นี่มันเป็นปัญหาความเนี้ยบความพร้อม ซึ่งก้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าปัญหาในปี 2549 นั้น สังคมไทยปล่อยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องสำคัญเช่นนี้ลอยนวลอยู่ได้อย่างไรมาจนถึงทุกวันนี้

เพราะนี่ ! คืออนาคตของเด็กทั้งประเทศ  ถ้าคนไทย ประเทศไทย และการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆในเมืองไทยให้คุณค่ากับบทเรียนจากอดีต การเก็บข้อมูล การดูความผิดพลาดจากอดีตแล้วปรับปรุงเพื่อจะทำให้ดีขึ้น ป่านนี้ประเทศไทยก็คงไม่ถอยหลังและเจอปัญหาซ้ำซากแบบนี้


บทสนทนาของ  คุณ คำผกา