สิทธิของเด็ก เรื่องของทรงผม




นางศิริพร  กิตเกื้อกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการได้มีการพิจารณากฎระเบียบเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนหลายฉบับ เรื่องทรงผมก็เป็นเรื่องที่โรงเรียนสามารถพิจารณาความจำเป็นได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีมติให้ไปรวบรวมกฎระเบียบและยกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้เหลือเพียงฉบับเดียวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และประโยชน์สูงสุดของนักเรียน  รวมถึงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน   ต่อกันด้วยพงษ์เทพ  เทพกาญจนา รัฐมนตรีกระทนงศึกษาธิการ  " ไม่เห็นด้วยกับการตัดผมเกรียนตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนก็ไม่เห็นด้วย และก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะกำหนดอย่างนั้น ผมให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ข้างในมากกว่า นั่นก็คือเรื่องของความรู้ในสมอง ทรงผมไม่ใช่เรื่องของกติกาที่จะไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไร ซึ่งไม่ค่อยมีเหตุผลนัก " นี่เป็นบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าวไทย

ถ้าพูดว่าทรงผมไม่มีผลกระทบต่อมันสมองที่อยู่ข้างใน จะพูดอย่างนี้มันก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่ก็เป็นผลที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่คัดค้าน คือผมเกรียนกับผมติ่งหูมันมา  เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่าเป็นเด็ก สำนึกว่าด้วยการแบ่งว่าอายุเท่านั้นเท่านี้เรียกว่าบรรลุนิติภาวะ อายุแบบนี้เรียกว่าช่วงวัยรุ่น สิ่งนี้ก็เป็นชุดความคิดที่พึ่งถูกสร้างขึ้นมาในยุคร่วมสมัยเหมือนกัน ซึ่งเป็นการจัดประเภทเพื่อให้สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ แล้วสัญลักษณ์ของการที่ทำให้เด็กไม่ทำสามารถผมได้อย่างอิสระ ก็เนื่องจากเป็นการจะบอกทางอ้อมว่า คุณคือสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ คุณจึงต้องจะต้องมีเครื่องแบบที่อยู่ภายใต้การกำกับของคนที่มีอำนาจมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาจึงกำหนดให้ทรงผมแบบนี้ นี่เป็นการวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจไว้กับร่างกายของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่เป็นเด็กอยู่ในโรงเรียนของไทย นอกจากจะต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังต้องตัดผมทรงที่ตอกย้ำความไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้  เป็นทรงผมที่ตอกย้ำความด้อยอำนาจของตัวเอง เป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำว่าตัวเองยังมีความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์เท่ากับคนที่ดูแลพวกเค้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นจะบอกว่าทรงผมมันไม่เกี่ยวข้องกับข้างในนี่มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยให้เด็กทำผมได้ตามใจชอบมันก็จะเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกที่อยู่ในสมองของเด็กว่า เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นมนุษย์เท่ากับครู พ่อแม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีเท่ากัน ศักดิ์ศรีที่จะสบตากับครู อธิบายกันด้วยเหตุผล แต่ถ้าเด็กถูกตัดผมเกรียนเขาจะรู้สึกว่าเขายังเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบรณ์แบบ เขาก็ไม่กล้าที่จะโต้เถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครู เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าทรงผมมีผลกระทบต่อสมองอย่างแน่นอน คือมีผลที่ทำให้ถูกฝึกสยบยอมต่ออำนาจ จะเห็นได้จากเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วยังที่จะสยบยอมต่ออำนาจนิยม ซึ่งเห็นได้ในภาวะปัจจุบัน

ทีนี้มาดูกันถึงปฏิกริยาของคนที่หัวอนุรักษ์นิยมที่ออกมาต่อต้านกันบ้าง นางนวลจันทร์  บุญอาจ ผู้ช่วยรองผู้อำนาวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล  โรงเรียนศึกษานารี กล่าวว่า ปัญหาแฟชั่นทรงผมนักเรียนเป็นปัญหาของทุกโรงเรียนในขณะนี้ ซึ่งในอดีตกฎของโรงเรียนจะห้ามไม่ให้นักเรียนซอยผม แต่ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งอลุ่มอล่อยให้นักเรียนซอยผมบาง ๆ ได้อยู่แล้ว แต่เมื่ออนุญาตแล้วก็ไม่สามารถควบคุมได้ นักเรียนมักจะมีทรงผมแปลก ๆ ที่รับอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาจนโรงเรียนรับไม่ไหวและถ้าปล่อยออกไปก็จะมีทรง Punk ทำสีทองเข้ามาในโรงเรียน นอกจากนั้นปัญหาแฟชั่นทรงผมของนักเรียนยังเป็นเรื่องที่กระทบต่อพัฒนาการของคุณภาพนักเรียนในหลายด้าน เพราะนักเรียนจะไปมัวเสียเวลาไปกับการแข่งขันทำทรงผมใหม่ ๆ เพราะอยากให้ตัวเองทันแฟชั่นเหมือนคนอื่น ๆ จึงไม่มีกะจิตกะใจที่จะเรียนหนังสือ

อันที่จริงเรื่องที่ว่าจะเกิดปัญหานักเรียนทำผมทรงแปลก ๆ เช่นทำสีผมนั้นก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้ แต่เหตุผลที่ว่ากลัวว่านักเรียนจะเอาเวลาไปทำผมจนไม่มีเวลากะจิตกะใจจะเรียน อันนี้เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่เด็กมามองแบบนี้บ้างครูจะคิดอย่างไรโดยใช้ตรรกะเดียวกัน ปัจจุบันไม่มีกฎที่ห้ามครูทำทรงผมนั้นทรงผมนี้ เด็กจะพูดได้หรือเปล่าว่า ถ้าครูทำผมทรงอะไรก็ได้นี่ก็จะทำให้ครูไปแข่งขันกันทำผมทรงนั้นทรงนี้จนไม่มีกะจิตกะจิตที่จะสอนหนังสือ ถ้าเด็กให้เหตุผลแบบนี้ ครูจะรับได้หรือเปล่า แล้วอีกสิ่งหนึ่งคือครูทำไมไม่คิดที่จะสอนเกี่ยวกับการแต่งกาย ทำผมให้เหมาะกับกาละเทศะควรจะแต่งอย่างไร ว่าในสถานาการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ควรจะแต่งกายอย่างไรให้เหมาะสมและเคารพสถานที่

อันนี้ก็เลยต้องกลับไปเรื่องระบบอำนาจนิยมที่เคยกล่าวไว้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาผู้ใหญ่ที่คุ้นชินกับการที่ตัวเองมีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเด็ก แล้วรู้สึกไม่คุ้นชินและปรับตัวไม่ได้ที่สิ่งมีชีวิตที่ตัวเองเคยเห็นว่าเป็นเด็ก ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ วันดีคืนดีพวกเขาจะได้รับอิสระเสรีภาพและกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา พอพวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมาเท่ากับตัวเอง ตัวเองก็หมดอำนาจที่จะไปควบคุมพวกเขาอย่างไร้เหตุผล ทีนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรจะมาพุดมาสอนว่า พูดสีทองมันไม่ถูกกาละเทสะอย่างไร  ผมยาวเกินมันไม่ดีอย่างไร เพราะถ้าหากคุณเป็นพนักงานเสริฟผมคุณก็สยายยาวหล่นลงไปในจานอาหารของลูกค้า ซึ่งมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องดี ซึ่งเหล่านี้มันเป็นเหตุผลเชิงหน้าที่ ที่ไม่ใช่เหตุผลเชิงอำนาจ  ประเด็นนี้ต่างหากล่ะที่ครูต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่เพียงใช้อำนาจเพื่อให้เด็กยอมศิโรราบให้แก่ตนเอง 

ครูบางท่านอาจจะออกมาให้เหตุผลว่าการไว้ผมจะทำให้กระทบต่อผลการเรียนรของเด็ก ตั้งแต่มีการร่างระเบียบเกี่ยวกับทรงผมตัี้งแต่ พ.ศ. 2515 และบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน ครูเคยรู้บ้างไหมว่าผลการจัดอันดับความรู้ของเด็กไทยติดท็อป 1 ใน 5 ของเด็กที่โง่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น 40 ปีของการไว้ผมทรงเกรียนและทรงติ่งหูของเด็กนักเรียนไทย มันเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า การไว้ผมทรงนี้มันไม่ได้ทำให้สติปัญญา ความสามารถ วุฒิภาวะหรืออะไรใดใดของนักเรียนให้ดีขึ้นได้แต่ประการใดเลย

ทีนี้มาดูมุมมองของเด็กผู้หญิงที่มองว่า การไว้ผมนั้นจะทำให้เด้กมัธยมดูไม่น่ารัก และดูเป็นเด็กมัธยมซึ่งแตกต่างจากเด็กมหาวิทยาลัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาจจะพูดได้ว่า นี่เป็นเหตุผลที่เด็กอยู่ในอำนาจนิยมไปนานๆก็จะมีความคิดแบบนี้ก็ได้เช่นกัน แต่ก็ยังมีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแห่งสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่นครเจนีวา เด็กนักเรียนหญิงคนนี้ให้เหตุผลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า " ก็คงเป็นเรื่องของกฎระเบียบของโรงเรียนค่ะ เด็กนักเรียนไทยก้ไม่มีโอกาสในการร่วมคิดกฎระเบียบของโรงเรียน โรงเรียนมักจะใช้กฎเดิม ๆ ทั้ง ๆที่บางกฎก็ไม่ได้มีผลอะไรกับการเรียนของเด็กนักเรียนเลยมาเป็นเวลากว่าร้อยปี " แล้วคณะกรรมการก็ถามว่า ยกตัวอย่างได้ไหม เด็กผู้หญิงคนนั้นตอบว่า " ก็อย่างเช่นเรื่องของทรงผม ส่วนตัวดิฉันเห็นว่าไม่มีเหตุผลอะไรกับการเรียน เด็กมัธยมต้นต้องตัดผลติ่งหู เด็กม.ปลายอย่างโรงเรียนดิฉันต้องไว้ผมสั้นทั้ง ๆ ที่นานาประเทศไม่มีกฎดังกล่าว ดังนั้นดิฉันเห็นว่าโรงเรียนควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนกฎระเบียบโรงเรียนบางประการ "

น่าสนใจที่โรงเรียนในสังคมไทยสบับสนุนระบอบประชาธิปไตยโดยให้มีสภานักเรียนของแต่ละโรงเรียน แต่ก็นั่นไม่ได้หมายความว่าสภานักเรียนจะมีสิทธิไปแสดงความเห็นหรือเปลี่ยนกฎระเบียบของโรงเรียนได้เลย น่าเสียดายจริง ๆ ที่เราพูดกันถึงเรื่องประชาธิปไตยกันทุกวัน ๆ อยากให้สังคมเราเป็นประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วเด็กตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในโรงเรียนสิ่งที่เจอไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่คือระบอบเด็จการอำนาจนิยม

และการที่กระทรวงศึกษาธิการออกมามีพิจารณาเรื่องเหล่านี้ นับเป็นย่างก้าวที่จะขยับขยายสิทธิและเสรีภาพให้กับเยาวชนของเรา เพื่อเติมความเป็นมนุษย์ของเขาให้สมบูรณ์ เด็กมีความเป็นมนุษย์เท่า ๆกับผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กมีสิทธิที่จะเลือกทรงผมให้เหมาะกับสภาพของเพศสภาพตัวเองอีกด้วย  และเราก็จะไม่มีคำว่า " เด็กตุ๊ดหัวโปก " อีกต่อไปแล้ว