เมื่อมีเลือกตั้ง 61


ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปรยปากบอกต่อพี่น้องประชาชนผ่านสื่อว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ทันปลายปี 2561 วันนี้จะพาไปดูกฎหมายพร้อมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ปี 61 ที่หลายคนมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ "ไม่น่าตื่นเต้น แต่มีความหมาย" ต่อการเมืองไทย จะมีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1. ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วน

ระบบเลือกตั้งแบบ "แบ่งสันปันส่วน" คืออะไร ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน โดยปกติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะใช้ระบบ one man one vote คือ ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นจะเข้าไปเป็น ส.ส.ในระบบแบ่งเขตทันที และผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนรองลงมาก็จะสอบตกทันที

แต่ครั้งนี้หาได้เป็นแบบเดิมไม่ เมื่อระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนนี้จะนำคะแนนของผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่สอบตกจากระบบแบ่งเขต นำไปคำนวณเพื่อหา ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน นั่นหมายความว่า

  • พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งระบบแบ่งเขต จะได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อน้อยลง และ
  • พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.จากระบบแบ่งเขตน้อย กลับได้ ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น
และที่สำคัญผลของการเลือกตั้งในระบบนี้จะไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ หากมองในมุมของผู้ออกแบบระบบก็จะอ้างว่าเพื่อป้องกัน "เผด็จการรัฐสภา" แต่ในทางกลับกันกลับส่งผลต่อเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาลไม่น้อยเลยทีเดียว

ลองคำนวณดู หากนำคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2554 มาคำนวณจำนวน ส.ส. ทั้งหมด พบว่า พรรคเพื่อไทยจากที่เคยชนะเบ็ดเสร็จกลับได้จำนวน ส.ส. ลดลง 23 ที่นั่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในระบบใหม่นี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น 17 ที่นั่ง แต่ก็ไม่มีที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งอยู่ดี

2. กีดกันพรรคเล็กลงเลือกตั้ง

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ที่เพิ่งคลอดออกมาสดๆ  ร้อนๆ พบว่ามีเจตนาที่จะนำระบบ Primary Vote แบบอเมริกามาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองต้องมีฐานมาจากประชาชน โดยในพระราชบัญญัติฯ นี้ไปกำหนดว่า พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคใหม่จะต้องมีผู้ริเริ่มอย่างน้อย 500 คน และมีทุนจดทะเบียนพรรคการเมืองจำนวนถึง 1 ล้านบาท และจะต้องจัดให้สมาชิกพรรค(ประชาชนทั่วไป) ไปลงคะแนนเลือกผู้แทนเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กที่มีฐานมวลชนจำกัดและไม่มีทุนในการจัดตั้ง ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการเข้ารับสมัครเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าพรรคเล็กเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อประชาชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองก่อนหน้านี้มากนัก เช่น กลุ่มสิ่งแวดล้อมนิยม คนไร้บ้าน หรือแม้กระทั่งกลุ่มอาชีพต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

สรุป ไม่ว่าผู้ออกแบบระบบการเลือกตั้งจะมีเจตนาเช่นใด แต่ผลที่จะปรากฏขึ้นแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ 1) พรรคใหญ่(ที่ก่อนหน้าเคยได้ที่นั่งในสภามากที่สุด) กลับได้คะแนนเสียงลดลง และไม่มีทางได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา 2) พรรคเล็ก ถูกจำกัดสิทธิด้วยกำแพงทางกฎหมายที่เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถเข้าแข่งขันในสนามเลือกตั้งได้ 3) พรรคใหญ่ที่เคยเป็นรองในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เด็ดขาดเสียทีเดียว

ดังนั้น เมื่อระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาให้ระบบการเมืองไร้เสถียรภาพเช่นนี้ จึงส่อแววว่า ทันทีที่คะแนนเสียงในคูหาเริ่มปรากฏ จะเกิดปรากฏการณ์การต่อรองทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่อาจจะเรียกว่า "ซุปเปอร์ดีล" กันเลยทีเดียว เพราะท้ายที่สุดหากแม้นพรรคการเมืองใดไม่สามารถโหวตเลือกนายก แล้วได้คะแนนเสียงเด็ดขาดได้ ก็จะนำไปสู่การเปิดทางให้กับ "นายกคนนอก"

3. เพิ่มอำนาจ ส.ว. แต่งตั้ง และมีสิทธิร่วมโหวตนายกฯ คนนอก

ส.ว.ที่จะมาทำหน้าที่ในรัฐสภานั้น แน่นอนแล้วว่ามีจำนวน 250 คน ประกอบด้วย

  1. ผู้นำเหล่าทัพที่ดำรงตำแหน่งโดยอัตโนมัติ 6 คน 
  2. คัดเลือกโดยตรง คสช. 50 คน 
  3. อีก 194 คน มาจากการคัดเลือกแบบไขว้กันของผู้มากประสบการณ์ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ
แต่ท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดทั้งมวล คสช. ก็เป็นองค์คณะที่คัดเลือกเข้ามาด้วยตัวเองแทบทั้งสิ้น ถึงแม้จะอ้างว่า ส.ว. ชุดนี้จะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อการปฏิรูปประเทศและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แต่นักวิเคราะห์ต่างก็มองว่าเมื่อ ส.ว.เหล่านี้ได้เข้ามาทำหน้าที่แล้วต่างก็ตัดสินใจทางการเมืองภายใต้การบัญชาของ คสช. โดยหลีกหนีไม่พ้น นั้นหมายความว่า ส.ว.ชุดหน้า คือเป็นเหมือนไพ่ของ คสช.ทั้งตลับ

ผลลัพธ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากข้อที่ 2 เมื่อการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรอ่อนแอลง นายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอชื่อขึ้นไปไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถชนะขาดเกินครึ่งในสภาได้ ก็จะเปิดทางไปสู่การให้อำนาจ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. เข้ามามีส่วนในการเสนอและเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ตามมาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 โดยใช้คะแนนเสียงของทั้งสองสภาร่วมกันไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เลือกใครก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แล้วหน้าตาของรัฐบาลชุดหน้าจะเป็นอย่างไร ? คงเป็นไปได้แค่ไม่กี่ทางเลือก

  1. พรรคชนะการเลือกตั้ง คว้านหาพรรคเล็กเพื่อจัดตั้งรัฐบาล (อาจต้องพยายามมากพอสมควร เพราะพรรคเล็กเล่นตัวแน่นอน หากเป็นไปตามโมเดลนี้เราคงจะได้เห็นผู้นำพรรคเล็กได้นั่งกระทรวงใหญ่ก็ครานี้แหละ)
  2. หรือเราอาจจะได้เห็นประชาธิปัตย์จับมือกับเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล (มีคนแซวว่ารอให้ฟ้าผ่าวัดพระแก้วก่อนถึงจะเป็นไปได้) แต่ก็ไม่แน่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ !
  3. ประชาธิปัตย์จับมือ กับ ส.ว. ที่บัญชาโดย คสช. เลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์หรือนายรัฐมนตรีคนนอก 
แล้วใครละ  "นายกคนนอก"  ?
แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด "ซูปเปอร์ดีล" หลังเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน

4. กกต.มีอำนาจให้ใบส้ม

"ใบส้ม" เป็นเรื่องใหม่ของการเลือกตั้งครั้งหน้า พระบัญญัติประกอบฯ ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ให้อำนาจ กกต.ในการแจกใบส้มแก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมมติว่า กกต.ให้ใบส้มแก่แคนดิเดดนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อของพรรคการเมือง ก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งมีความไม่แน่ไม่นอนไม่น้อย ภายใต้การตีความถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ในการแจกใบเหลืองใบแดง กกต.ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าอะไรคือเส้นแบ่ง ถึงท้ายที่สุดแล้วคงต้องตอบว่า ก็อยู่บนพื้นฐานของดุลยพินิจล้วนๆ กกต.จึงเป็นสถาบันสำคัญหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทกับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ต้องจับตาดูให้ดี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย แต่มีความหมายเอามากๆ เมื่อกำหนดเพิ่มจำนวนกรรมการจากเดิมเป็นองค์อรหันต์กันอยู่แค่ 5 คน เพิ่มเป็น 7 คน สรรหากันหลังจากนี้ต้องมอนิเตอร์กันดูให้ดีว่าจะมาจากขั้วอำนาจฝ่ายไหนบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าดุลยพินิจขององค์คณะทาง 7 นี้จะเป็นไพ่ชี้เป็นชี้ตายนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะมีการแจกใบส้มแบบสายฟ้าแลบ ที่อาจนำไปสู่ทางตันของสภาผู้แทนฯ แล้วเปิดทางไปสู่นายกคนนอกตามมาตรา 272 ก็เป็นได้

5. ม.44 ที่ยังไม่ตาย

แน่นอนที่สุด ตราบใดที่นายรัฐมนตรีคนและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่ได้ประกาศทูลเกล้าอย่างเป็นทางการ อำนาจแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ยังคงให้อำนาจเต็มแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ทั้งอำนาจในการควบคุมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้ง  จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่

ภายใต้สถานการณ์ที่จับมือใครดมไม่ได้ หากแม้แต่ความโกลาหลทางการเมืองที่อาจปะทุขึ้นทั้งจากที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจโดยฝ่ายใดก็ตาม รัฐธรรมนูญยังคงไว้ซึ่งอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2557 ที่ยังคงถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงให้อำนาจหัวหน้า คสช. คือผลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประกาศ ออกคำสั่ง ระงับ ยับยั้ง กิจกรรมทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ใดๆ ตามที่ท่านต้องการ

หากประชาชนคนไทยไม่อยากเห็นพลเอกประยุทธ์ ใช้ ม.44 แบบแผลงๆ ก่อนจะได้รัฐบาลใหม่ ขอทุกคนจงตั้งจิตภาวนาอธิฐาน ให้มีการปลดหรือเปลี่ยนแปลงหัวหน้า คสช. สิ คนอื่นจะได้ใช้แทน (อุ๊ปป...)

ผมแซวเล่นนะ ! คิคิ
#ผมทีมลุงนะ


จิรวัฒน์  ศรีเรือง
10 พฤศจิกายน 2560