มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ


ในยุโรปคนที่เรียนหมอ เรียนวิศวะ เรียนทนายความ ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางที่ห่วงใยเรื่องทำมาหากิน เพราะว่าเป็นอาชีพที่ได้เงินเยอะ ทีนี้ชนชั้นสูงเขาเรียนอะไร อย่างเจ้าชายวิลเลี่ยมก็เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็คือคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการทำมาหากินก็จะไปเรียนวรรณคดี ศิลปะ ในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น คือชนชั้นสูงของญี่ปุ่นชอบเรียนรู้วิธีการที่จะอยู่กับเวลาว่างเพื่อให้เกิดความสุข เช่น การเรียนชงชา เรียนจัดดอกไม้ เรียนเขียนกลอนเขียนกวี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิชาของคนที่ไม่ต้องเดือนร้อนเรื่องการทำมาหากิน แต่สำหรับคนไทยนั้นกลับกัน เพราะบางทีสอบเข้าอะไรไม่ได้แต่ดันไปติดวรรณคดี ก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองนี้อยากเรียนวรรณคดีหรือเปล่า ไม่ได้ตั้งคำถามว่าจบวรรณคดีแล้วจะไปทำงานอะไร ในสังคมไทยเราจะรู้สึกว่าคนเรียนหมอเป็นคนที่มีอันจะกิน ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นกลาง แต่เป็นอาชีพของชนชั้นสูงด้วยซ้ำไป

แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ไม่จำเป็นเลยที่ทุกคนจะต้องเข้ามหาวิทยาลัย

เด็กนักเรียนไทยเมื่อจบ ม.3 จะขึ้นชั้น ม.ปลายก็จะมีวิธีคิดเรื่องของเกรดเฉลี่ย คือโรงเรียนก็จะมีการคัดเด็กเข้า ม.4 โดยคัดจากเกรดเฉลี่ยว่าถึงเกณฑ์หรือเปล่า แล้วเด็กที่เกรดไม่ถึงก็จะต้องไปเรียนสายอาชีวะ สายอาชีพ จึงเท่ากับว่า เป็นการแบ่งเด็กออกเป็น 2 เกรด เด็กที่เรียนสายอาชีวะคือเด็กที่เรียนไม่เก่ง เป็นเด็กที่มีทักษะน้อยกว่าเด็กที่เรียนสายสามัญ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

เพราะเหตุนี้หรือเปล่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การเรียนระดับอาชีวะ หรือเรียนสายอาชีพของไทยมันดูไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรีเท่ากับการเรียนสายสามัญเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่มีอะไรมาประกันได้ว่าเด็กสายสามัญทุกคนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือถ้าคุณสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ไม่ได้คุณก็จะมาเข้ามหาวิทยาลัยรอง ๆ ลงมา และก็ไม่ได้ประกันด้วยว่าคุณจะได้เข้าเรียนในคณะที่คุณชอบจริง ๆหรือเปล่า คุณจะได้เรียนในสิ่งที่คุณจะเอาไปประกอบอาชีพจริง ๆ หรืออาจเป็นการเรียนเพื่อให้ได้แค่...ใบปริญญา

มโนทัศน์อย่างหนึ่งของคนไทยที่ปลูกฝังมากันตั้งแต่เด็ก ๆ ในเรื่องการเรียนการศึกษาคือ เรียนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน เพื่อที่จะเติบใหญ่ เพื่อที่จะได้ประกอบอาชีพ เรียนให้ถึงมหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นเจ้าคนนายคน เพราะฉะนั้น คนไทยไม่ได้ตั้งความหวังไว้กับการศึกษาของลูกว่า เรียนเพื่อไปเป็นช่างประปาเก่ง ๆ เรียนเพื่อไปเป็นช่างไฟฟ้าเก่ง ๆ  เรียนเพื่อไปเป็นช่างเทคนิคเก่ง ๆ เรียนเพื่อไปทำสีรถให้สวย ๆ ได้ยังไง ทำให้ดินแดนที่ชื่อว่าประเทศไทยต้องตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศนี้จึงหาช่างเก่ง ๆได้ยากเหลือเกิน หาคนทาสีบ้านได้ยาก หาช่างประปาก็ยาก หาช่างไฟดีดีก็ยิ่งกว่าหาเข็มในมหาสมุทร แล้วถ้ามีช่างไฟเก่ง ๆ ก็ต้องง้องอนเขามากเลย ถ้าคุณเจอปัญหาท่อน้ำแตก รั่ว คด งอ หรือระเบิดในผนังบ้านคุณ คุณจะรู้เลยว่าทำไมประเทศนี้หาช่างที่มีทักษะแล้วดูดีมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนได้ยากเหลือเกิน เพราะคนไทยไม่ได้ปลูกฝังมโนทัศน์ที่ว่าให้ทุกคนพึงพอใจหรือภาคภูมิใจในอาชีพของตน และทัศนะคติของคนไทยยังไม่เห็นว่าทุกอาชีพมีเกียรติเท่ากันหมด

ลัทธิคลั่งปริญญาของสังคมไทย ทำให้สังคมไทยลืมให้ความสำคัญกับการเรียนสายอาชีพ ?

ปัญหาของสังคมไทยคือเราสามารถผลิตนักเรียนที่จบมัธยมปลายได้ และก็สามารถที่จะผลักดันให้นักเรียนนั้นได้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ และชั้นรอง ชั้นย่อยออกไปได้ แต่เพื่อที่จะถามว่าเรียนอะไรนั้นยังพบว่ามีปัญหา เพราะเด็กของเราส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าอยากเรียนอะไร คิดแต่ว่าทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย คณะอะไรก็ได้ บางคนไปเรียนบรรณารักษ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รักการอ่าน ไม่ได้สนใจเลยว่าห้องสมุดที่น่าสนใจมันเป็นยังไง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วบรรณารักษ์ไม่ใช่เป็นแค่ยายแก่เฝ้าหนังสือ บรรษรักษ์ก็เหมือน curator ของ museum คือคุณสามารถทำกิจกรรมอะไรในห้องสมุดได้หลากหลายมาก หรือบางคนเรียนภาษาไทยเป็นเพราะคณะรับคะแนนไม่สูง แต่พอจบออกมาแล้วหางานทำไม่ได้ แล้วก็เข้าสู่ระบบตลาดที่รับเงินเดือน 7,000 - 9,000 บาท ถามว่าพอกินไหม...ไม่พอกิน !

ขณะเดียวกันถ้าคุณรู้ตั้งแต่แรกว่าคุณไม่เหมาะที่จะเรียนในระบบมหาวิทยาลัย คุณไม่ต้องแคร์ใบปริญญาได้ไหม คุรไปเข้าโรงเรียนการสอนทำแพตเทิร์น ไปเรียนเย็บผ้า ไปเรียนทำผมอย่างนี้ไปเลย เรียนแล้วคุณก็อาจเป็นช่างทำผมที่เก่งมาก เป็นช่างนวดหน้าที่ดีมาก อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ

แล้วเราจะทำอย่างไรให้สังคมไทยคิดอย่างนี้ ?

เราต้องให้ประเทศนี้ให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียนสอนช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างทำผม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมันทำให้เราเห็นโอกาสทางการศึกษา แล้วก็เกิดการพัฒนาตัวเอง คนก็จะขวนขวาย แล้วเมื่อทุกอาชีพได้รับเกียรติอย่างเท่าเทียมกัน คนก็จะบอกว่า ใบปริญญาไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือความภาคภูมิใจในหน้าที่การงานของตน เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เขาไม่บ้าเอาปริญญามาใส่กรอบติดฝาบ้านเหมือนคนไทย เพราะเขามีการนับถือกันและกันในการเป็นมนุษย์ร่วมสังคมเดียวกัน เขาให้เกียรติทุกอาชีพอย่างเท่าเทียม แล้วเงินเดือนแต่ละอาชีพไม่ได้แตกต่างกันมากด้วย อย่างกรรมกรก่อสร้างกับพนักงานบริษัทก็เงินเดือนพอ ๆ กัน เพราะถือว่าฝึกฝนมาอย่างหนักไม่แพ้กัน และคุณต้องหาความรู้เพื่อสอบเลื่อนระดับขึ้นไปอยู่เรื่อย ๆ เหล่านี้คือความแตกต่างระหว่างบ้านเรากับญี่ปุ่น

เพราะฉะนั้นเรื่องทัศนะคติทางการศึกษานี้จะต้องเปลี่ยนที่ค่านิยมของพ่อแม่ด้วย เปลี่ยนค่านิยมของตัวเด็กเองด้วย ความสำเร็จของชีวิตไม่ใช่ใบปริญญาที่ติดอยู่กับฝาบ้าน ไม่ใช่งานฉลองรับปริญญา แต่คือการที่เราได้ประกอบอาชีพที่เรารัก อาชีพที่เรามีความถนัด ถ้าเราเปลี่ยนค่านิยมของพ่อแม่ได้ เปลี่ยนจินตนาการของเด็กนักเรียนได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ ใบปริญญาไม่ใช่ตัวตัดสินอนาคต ศักดิ์ศรีอาชีพที่เท่าเทียมก็จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดในสังคมไทย แล้วจะรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ว่า จริง ๆแล้ว " มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ "