นิรโทษกรรม คืออะไร


นิรโทษกรรม หมายถึง การออกกฎหมายที่เป็นการยกโทษให้ผู้กระทำความผิดทั้งหมด เสมือนว่าผู้กระทำความผิดไม่ได้ทำความผิดมาก่อน ซึ่งฝ่านนิติบัญญัติ คือรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ และยังสามารถใช้ย้อนหลังเพื่อลบล้างความผิดให้แก่บุคคลผู้กระทำผิดโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย



หากมองในแง่ดี การนิรโทษกรรม ก็คือการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดทางเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง อย่างเช่นหลังสิ้นสุดสงคราม ทางการอาจประกาศนิรโทษกรรมให้พลเมืองที่ร่วมกันก่อกบฏ เพื่อให้คนที่ยังหลบหนีปรากฏตัว และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความปรองดองกันระหว่างผู้ละเมิดกับสังคม ซึ่งผู้ที่พ้นความผิดไปแล้วอาจเรียกสิทธิบางอย่างที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การออกกฎหมายนิรโทษกรรม อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้แก่สังคม เพราะอาจทำให้คนที่มีอำนาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากทำอะไรผิดกฎหมายไป ก็สามารถมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มของตัวเองภายหลังได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนออกมาคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเกรงว่าผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองจะไม่ได้รับความเป็นธรรม